A Day in Ban Panthom
หลังจากที่ในช่วงต้นของโครงการพวกเราทั้ง 30 กว่าชีวิต ได้แบ่งกลุ่มทำงานออกเป็น 5 กลุ่มตามความสนใจแล้วนั้น ในวันที่ 5 ก.ค. พ.ศ.2560 พวกเราก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่และถ่ายทำสารคดีซึ่งจะนำเสนอวิถีชีวิตของชุมชนบ้านพานถมตามมุมมองที่แต่ละกลุ่มได้รับมอบหมาย
ในช่วงเช้าก่อนที่พวกเราจะไปบ้านพานถมนั้น พวกเราได้มีโอกาสศึกษากรณีตัวอย่างจากชุมชนป้อมมหากาฬ โดยได้รับการอนุเคราะห์และให้ความรู้จากผศ.สุดจิตจากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมและชุมชน อีกทั้งยังมีผู้นำชุมชน และชาวบ้านในชุมชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
หลังจากนั้น พวกเราจึงกลับไปบริเวณบ้านพานถมเพื่อดำเนินการถ่ายสารคดีตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยกลุ่มของพวกเรามุ่งเน้นที่จะนำเสนอสารคดีเกี่ยวการฟื้นคืนวิถีชีวิตของชาวบ้านบนถนนในย่านพานถมกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พวกเราสัมภาษณ์ชาวบ้านจำนวน 9 คน โดยคนแรกสุดคือคุณชัย ผู้เป็นช่างตัดเสื้อในย่านนี้ คุณลุงเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ที่ชุมชนนี้ได้ 5-6 ปีหลังจากที่ย้ายมาหลากหลายที่เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านสถานที่ทำงาน คุณลุงกล่าวว่า ในชุมชนนี้คุณลุงรู้จักแทบทุกคน โดยสิ่งสำคัญที่คุณลุงยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดคือการยิ้ม คุณลุงกล่าวว่าคุณลุงมักยิ้มให้พวกเขาก่อน นี่คือวิธีที่คุณลุงใช้ในการปรับตัวเข้ากับชุมชนต่างๆที่คุณลุงย้ายมามากมาย คุณลุงจึงรู้สึกกับหมู่บ้านนี้ว่าคุณลุงรู้สึกดีกับหมู่บ้านแห่งนี้ ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และหากมีการฟื้นคืนวิถีชีวิตดังกล่าว คุณลุงก็เห็นด้วยและยินดีที่จะให้การฟื้นคืนนี้เกิดขึ้น
เช่นเดียวกันกับคุณโบ๊ะลัน คุณยายวัย 84 ปีที่อยู่หมู่บ้านแห่งนี้มาตั้งแต่กำเนิด และเคยเป็นคนทำเครื่องถมมาก่อน คุณยายรู้จักกับชาวบ้านบ้างเป็นบางส่วน เนื่องจากชาวบ้านเก่าแก่นั้นได้ย้ายออกไปและเสียชีวิตไปจำนวนมาก คุณยายจึงรู้สึกว่า หากมีการฟื้นคืนวิถีชีวิตบนถนนในย่านพานถม ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งนั้น ก็เป็นความคิดที่ดี หากปรับปรุงให้ไปในทางที่ดีขึ้น ก็ยินดี แต่สิ่งที่เป็นอยู่นั้น ก็ดีอยู่แล้ว
อีกแง่มุมหนึ่งจากชาวบ้านที่เป็นผู้อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งเพิ่งย้ายเข้ามาได้เพียง 1 ปี นั่นก็คือคุณมาลี ชาวสวนจากเชียงราย คุณมาลีย้ายทำมาค้าขายที่ ถ.ข้าวสาร เธอกล่าวว่าตนรู้สึกชอบชุมชนแห่งนี้ สงบเงียบดี แต่คุณมาลีนั้นรู้จักชาวบ้านเพียงกลุ่มคนจากเชียงรายด้วยกันเท่านั้น ไม่ได้รู้จักชาวบ้านคนอื่นๆมากนัก จึงรู้สึกอยากให้มีการฟื้นคืนวิถีชีวิตบนถนนเกิดขึ้น เนื่องจากตนนั้นก็อยากที่จะทำความรู้จักกับชาวบ้านในชุมชนบ้านพานถมนี้เช่นกัน
ท้ายที่สุด หลังจากข้อมูลมามากมายที่ได้รับมาในวันนี้ หลากหลายความเห็นที่แตกต่างกันออกไป หลากหลายวิถีชีวิตของผู้คน แต่พวกเราเชื่อว่าชุมชนแห่งนี้สามารถกลับมารวมกันเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวกันได้อีกครั้ง